วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คืออะไร


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

          แต่เดิมนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ยังเป็นเพียงกรอบความตกลงทางการค้า จากเวทีการเจรจาของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมุ่งเน้นเพียงความร่วมมือทางการค้า เพื่อชะลอการเปิดเสรีฯ ซึ่งสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป พยายามจะรุกเข้ามาในตลาดของภูมิภาคนี้ การรวมกลุ่มกันเพื่อความเข้มแข็งจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างยาวนาน ของอาเซียน มีการส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในหลายระดับ จึงได้พัฒนาต่อยอดเป็นมากกว่าเรื่องทางการค้า หรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังวางรากฐานที่จะเปิดประตูไปสู่ความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันในมิติทางสังคม การเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก และกระบวนการต่างๆ ก็เดินหน้าไปทุกขณะ แม้จะไม่เร่งรีบ แต่ก็มียุทธศาสตร์และ Road map วางไว้อย่างชัดเจน จนถึงปัจจุบันนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้นๆ และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะต้องปรับตัวอย่างเหมาะสม และคอยติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแค่ข้อมูลจากส่วนราชการเท่านั้น แต่ยังต้องแสวงหาโอกาส ความร่วมมือกันของกลุ่มองค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอีกด้วย

ความเป็นมาพอสังเขป (ข้อมูลจากทางกระทรวงพาณิชย์)

          ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ได้ให้การรับรองและลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ซึ่งรวมเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลัก 3 เสาของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยอีก 2 เสาหลัก คือเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง (Political and Security Pillar) และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural Pillar)

          โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ยังเห็นชอบให้มีการรวมตัวเป็น AEC ภายในปี ค.ศ. 2020 โดยอาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมือโดยเสรีและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีขึ้น ในการนี้ ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบให้ เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา เป็นสาขานำร่อง โดยมีประเทศสมาชิกรับผิดชอบในการจัดทำ Road map ในแต่ละสาขา ได้แก่

  1. ไทย : การท่องเที่ยวและการบิน
  2. พม่า : สินค้าเกษตรและสินค้าประมง
  3. อินโดนีเซีย : ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้
  4. มาเลเซีย : ยางและสิ่งทอ
  5. ฟิลิปปินส์ : อิเล็กทรอนิกส์
  6. สิงคโปร์ : เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และการบริการด้านสุขภาพ

          ในส่วนของไทยนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ให้เร็วขึ้นภายในปี ค.ศ. 2012 และเสนอว่าในการเร่งรัดการรวมตัวอาเซียนน่าจะใช้หลักการ Two Plus โดย 2-3 ประเทศที่พร้อมสามารถที่จะเปิดเสรีในภาคที่ตนมีความพร้อมไปก่อน และประเทศอื่นๆ สามารถเข้าร่วมเมื่อมีความพร้อมแล้ว ซึ่งในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี สิงคโปร์ ได้กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของไทยที่ให้เลื่อนระยะเวลาในการบรรลุประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยเห็นว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ. 2015

          ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน (Framework Agreement for the Integration of the Priority Sectors) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของอาเซียน 11 ฉบับ (ASEAN Sectoral Integration Protocol) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547 ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ทุกประเทศย้ำความสำคัญของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยอาจให้สำเร็จภายในปี 2555 (ค.ศ. 2012) และได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเร่งรัดการรวมตัว เช่น การใช้วิธีการ Two plus X ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอความจำเป็น และแนวทางนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โลจิสติกส์ คืออะไร

จากกระบวนการผลิตที่ต้นน้ำ ไปสู่การเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ หรือวัสดุำจำเป็นต่างๆ ตลอดจนการบริการที่เกี่ยวเนื่องในระบบโลจิสติกส์(Logistics) จนไปถึงปลายน้ำตามที่เข้าใจกันง่ายๆ นั้น ข้อเท็จจริงแล้วก็อาจจะไม่ง่ายนัก หากขาดความรู้ ความเข้าใจ และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

โลจิสติกส์ คือ กระบวนการผลิตจากต้นน้ำ การเคลื่อนย้ายสินค้า หรือวัตถุดิบ ไปยังสถานที่จัดเก็บสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง และบริการที่เกี่ยวเนื่องในระบบอันได้แก่ การบรรจุภัณฑ์ การแบ่งบรรจุ ตลอดจนการกระจายสินค้า จนไปถึงผู้บริโภคที่ปลายน้ำ ดังที่เข้าใจกันง่ายๆ นั้น บางครั้งก็อาจจะไม่ง่ายดายนัก ต่างจากที่หลายคนคิดเอาไว้ เพราะหากขาดความรู้ ความเข้าใจ และการบริหารจัดการที่ดี เป็นระบบแล้ว กระบวนโลจิสติกส์ ก็มิอาจจะเกิดประสิทธิภาพขึ้นได้ เป็นเหตุให้สูญเสียทั้งเวลาและต้นทุนไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งหากจะแยกองค์ประกอบของกระบวนงานด้านโลจิสติกส์ ก็อาจจะแบ่งออกได้ ดังนี้
  • โลจิสติกส์ภาคการขนส่งและเคลื่อนย้ายสินค้า
  • โลจิสติกส์ภาคการจัดเก็บและกระจายสินค้า
  • โลจิสติกส์ภาคการค้าระหว่างประเทศ
           การขนส่งและการเคลื่อนย้ายสินค้า ถูกจัดความสำคัญไว้เป็นลำดับต้นๆ ที่ช่วยสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งยังมีบทบาทเป็นดรรชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น การขนส่ง จึงมิใช่เรื่องของการพัฒนายานพาหนะ หรือการแข่งขันทางด้านยนตกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึง ระบบกระบวนวิธีการ ที่เรียกว่า ระบบการขนส่ง หรือกระบวนการบริหารจัดการทางด้านการขนส่งอย่างเป็นระบบ อาทิเช่น ในแง่การขนส่งบุคคล ก็จำเป็นต้องมี ระบบขนส่งมวลชน ที่มีประสิทธิภาพ ในแง่การขนส่งสินค้า ก็ยิ่งต้องใช้วิธีการทางโลจิสติกส์เข้ามาบูรณาการอย่างเป็นระบบ
          กระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้านั้น บางคนอาจสรุปง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการขนส่ง แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็อาจเ็ป็นคนละขั้นตอนกระบวนการกัน หรืออาจจะเป็นเรื่องเดียวกันอย่างที่เข้าใจก็ได้ เพราะโดยมากการเคลื่อนย้ายสินค้าย่อมต้องอาศัยขั้นตอนการสำเลียง และขนส่ง ซึ่งมักจะต้องมียานพาหนะเข้ามาร่วมในกระบวนการ แต่การเคลื่อนย้ายสินค้านั้น อาจหมายรวมถึงการจัดเก็บ หรือ inventory system ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบระเบียบในการจัดเก็บ และการค้นหา ที่พร้อม และสามารถจะรองรับการบริหารจัดการโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          การจัดเก็บและการกระจายสินค้า เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปไปยังสถานที่ปลายทางที่ต้องการ ในเวลาที่ระบุ โดยที่สินค้านั้นจะต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ การกระจายสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจหรือหน่วยการผลิตกับลูกค้านั่นเอง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการให้บริการ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ยิ่งในปัจจุบันสถานการณ์ด้านโลจิสติกส์นั้นการแข่งขันทางการค้าของทุกประเทศมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มทวีปเอเชีย ทำให้ระบบของการกระจายสินค้ามีความชัดเจน และเป็นมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผลดีต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคที่จะได้สินค้าตรงตามความต้องการในเวลาที่ระบุ ขจัดข้อผิดพลาด และก่อให้เกิดความพึงพอใจในทุกฝ่ายนั่นเอง
          การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก-นำเข้าสินค้า เปรียบเสมือนลมหายใจของประเทศ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเปิดเส้นทางการค้า และกฎหมายการค้าเสรี ส่งผลทำให้กลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ สามารถนำสินค้า วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนของใช้ที่จำเป็น เข้ามาทำการค้าขายกันได้อย่างเปิดเผย
          สำหรับประเทศไทยด้านโลจิสติกส์ ผู้ออกกฎหมายได้มีการพัฒนาทั้งรูปแบบ และระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่า การส่งออก-นำเข้าในประเทศไทยเอง จะเริ่มเอาจริงเอาจังกันได้เมื่อไม่นานมานี้ หากเทียบกับการค้าแถบอ่าวเปอร์เซีย การค้าสำเภาจีน หรือแถบคาบสมุทรอินเดีย ที่เรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรือง และในปัจจุบัน อย่างระบบการค้าสมัยใหม่ของยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่ทุกประเทศยกให้เป็นกรณีศึกษาที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากอีกด้วย